เรียนรู้ 4 บทเรียน จากเรื่องราว "อยากจะซ่อมเสื้อผ้าเอง!"
(Learned 4 lessons from the story "I want to fix my own clothes!)
“เป็นเรื่องที่ฟังดูน่าขัน แต่น่าคิดอยู่เหมือนกัน บทความนี้ถือเป็นการเล่าเรื่องจากประสบการของผู้เขียนเองค่ะ ก่อนอื่นผู้อ่านนั่งในที่ที่สงบเงียบ ปล่อยวางอารมณ์ให้ว่างเปล่า สูดลมหายใจให้เต็มปอด จินตนาการภาพไปพร้อมกันนะคะ ต้องย้อนไปถึงจุดหนึ่งที่ต้องบอกว่า ฉันค้นพบและต้องการที่จะเป็น และนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงโฉมการแต่งตัวกับคำว่า “ผู้หญิง”ฉันอยากใส่ชุดกระโปรงมากขึ้น เริ่มเรียนรู้การสั่งซื้อ เสื้อผ้าออนไลน์แต่ก่อนไม่เคยซื้อทางออนไลน์ เพราะถ้าต้องการเสื้อผ้าก็จะไปลองชุด ดูเนื้อผ้า หรือไปตัดชุดเลย พอมาสั่งเสื้อผ้าทางออนไลน์ สิ่งที่ต้องยอมรับก่อนซื้อคือ ตรงปกบ้าง ไม่ตรงปกบ้าง ขนาดไม่พอดี เหล่านี้ นำมาสู่จุดเริ่มต้นการซ่อม-แก้ไขเสื้อผ้าที่บ่อยขึ้น”
แรงบันดาลใจที่อยากจะซ่อมชุดที่ซื้อมา สิ่งแรกที่นึกคือการสวมใส่ชุดที่พอดีตัว และเหมาะกับรูปร่างคิดว่าพอใจแล้ว เวลาใส่แล้วสวยขึ้น ก็ยิ่งอยากจะทำให้เสื้อผ้าทุกชุดใส่แล้วสวยทุกชุด ในความพยายามและความตั้งใจ กว่าจะได้ชุดแบบพอดีตัวต้องอาศัยช่างเย็บผ้าประจำ เพราะบางชุดต้องใช้จักรเย็บผ้า
มีวันหนึ่ง สั่งเสื้อผ้าออนไลน์ ในวันที่รับของแล้วเปิดดูเป็นอะไรที่ลุ้นมาก สิ่งแรกที่นึกคือ เนื้อผ้า ปรากฎว่าเป็นอย่างที่คิดคือ ชุดที่สั่งเนื้อผ้าไม่ตรงตามที่คาดหวัง (ยังดูเนื้อผ้าไม่เก่ง) ขนาดเสื้อผ้าที่ใหญ่กว่าตัว ครั้งนี้อยากจะซ่อมเอง(เพราะลงทุนซื้อจักรเย็บผ้าขนาดพกพา เลยนะ) ก่อนหน้ามีบางครั้งอยากลองซ่อมเสื้อผ้าเอง ซึ่งไม่เคยทำ และในระหว่างการซ่อม บางชุดซ่อมใช้เวลาหลายชั่วโมง บางชุดซ่อมทั้งวันทั้งคืน ก็ไม่เรียบร้อย และแล้วมีชุดหนึ่งซ่อมชุดนี้จนดึกถึงตีสาม ก็ไม่เรียบร้อย แปลกที่ตัวเองไม่บ่นเลยและยินดีที่จะทำ แต่ก็ต้องหยุดก่อนเพราะดึกมากแล้ว
“เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ฉุกคิดถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวเราทุกคนและยังหาทางออกไม่ได้กับปัญหาที่เจอ…. 4 บทเรียนนี้ ช่างทำให้การทำงานแต่ละวันของคุณมีความสุขมากขึ้น “
1.ถ้ารักในสิ่งที่ทำ ก็มาถูกทางแล้ว
เป็นอะไรที่มีพลังมาก! สำหรับคนที่ชอบและรักในการทำงานของตัวเอง หรือมีความสุขในงานอดิเรกตัวเอง เพราะจะนำพาคุณไปสู่การอยากรู้อยากห็น อยากลอง แล้วนำมาปรับใช้เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการมากที่สุด และผลดีที่ตามมาคือสร้างความอดทนให้ตัวเองไปในตัว รู้มั๊ยว่า เวลามีความสุขในสิ่งที่ทำแล้วมันจะทำได้นานแม้จะลำบากแค่ไหน บางครั้งถึงขนาดยอมแลกกับสิ่งอื่นได้
2.ทำไปเรื่อยๆจนกว่าจะชำนาญ
ผู้คนชอบให้ความสนใจและยกย่องเราเมื่อคนคนนั้นประสบความสำเร็จ เพราะคนที่ประสบความสำเร็จพวกเขาก็ผ่านการฝึกฝน ขัดเกลาความสามารถของตัวเองจนมาถึงระดับที่ให้การยอมรับ ไม่มีใครเก่งมาแต่เกิด ทุกอย่างถ้าอยากจะชำนาญคุณต้องฝึกฝนและฝึกฝน แน่นอนระหว่างทางต้องเจอกับแรงกดดัน แรงดูถูก เหยียดหยาม เพราะพวกเขาให้ราคาคุณต่ำ ต่ำกว่าสิ่งที่พวกเขาจะยอมรับ เปลี่ยนแรงกดดันทุกอย่างเป็นแรงผลักดันให้คุณ เพราะถ้าไม่มีแรงผลักดัน คุณก็ไม่ขยับ ดังนั้น ลงมือทำ
3.ปัญหาทุกอย่างมีทางออกแต่ต้องให้เวลา
หลายคนอาจจะเปรียบเปรยไปถึงหลายๆเรื่อง ส่วนบทความนี้จะเปรียบเสมือนกับปัญหา เวลาคุณเจอปัญหาจนหาทางออกไม่เจอ หากคุณยังหมกมุ่นที่จะแก้ปัญหานั้น ใช่มันอาจจะแก้ปัญหาได้ แต่อาจจะไม่ดีพอ บางทีการหมกมุ่นที่มากเกินไปกับปัญหาและใช้เวลานานในช่วงเวลานั้น ยิ่งทำให้การแก้ปัญหานั้นแย่ลง ผิดพลาดมากขึ้น ลองให้เวลากับปัญหาเหล่านั้นเพื่อที่จะให้ความคิดและสมองของคุณเข้าสู่ภาวะปกติก่อนกลับมาคิดทบทวน อาจจะเป็น เริ่มทบทวนปัญหาและหาแนวทางแก้ไขในวันอื่นแทน หาอะไรทำที่ไม่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้
4.ทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน แบ่งเวลาให้เหมาะสม
เวลามีความสำคัญมาก หากคุณให้คุณค่ากับเวลาของคุณเอง หนึ่งวันคุณให้เวลากับอะไรบ้าง ย้อนนึกถึงตอนที่ฉันนั่งเย็บผ้า ไปทั้งวันทั้งคืน แล้วรู้สึกว่า ตัวเองมีงานที่สำคัญกว่าที่สมควรจะต้องทำก็ต้องผลัดไปทำอีกวัน ซึ่งจะกลายมาเป็นคนผลัดวันประกันพรุ่งโดยไม่รู้ตัว เพราะไปอนุญาตเวลาที่มีค่ากับเรื่องอื่นที่ไม่ได้เร่งรีบอะไรมาก หากว่าต้องการทำในสิ่งที่ตัวเองรักที่จะทำ ทางที่ดีลำดับความสำคัญของงานแต่ละวันในระยะเวลาที่เหมาะสม เพราะเวลาที่ผ่านไปแล้ว ย้อนกลับไปไม่ได้ เวลาถ้าให้คุณค่าและทุ่มเทกับสิ่งที่ทำ มันก็จะทำให้เราให้ความสำคัญกับทุกๆวัน ทุกทุกสิ่งที่ทำ
เมื่ออ่านบทความมาถึงตรงนี้เป็นงัยบ้างคะ ผู้เขียนจะเขียนในลักษณะเล่าเรื่องราวและแชร์ข้อคิด กรั่นกรองออกมาจากไอเดียวของตัวเอง เสมือนเป็นวัตถุดิบอย่างหนึ่งที่ถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือให้กับคนที่ชอบเสพการอ่าน ชอบต่อยอดไอเดียให้กับตัวเอง เรื่องราวของฉันในบทความนี้ มองว่าไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไรที่ทุกคนเผชิญอยู่ทุกวันนี้ มันคือธรรมชาติในโลกใบนี้ ปัญหาเป็นเหมือนกลไกหนึ่งของธรรมชาติที่เหมือนๆ กันซึ่งจะต่างกันที่ภาวะเหตุการณ์ของปัญหา มองกลไกนี้เสมือนว่า ปัญหา เวลา ลงมือทำ
แต่เราไม่รู้ตัวและยอมจำนนที่จะไม่เผชิญกับมันแล้วเป็นอันต้องยอมเป็นผู้แพ้ไป และจะมีคนส่วนหนึ่งพวกเขาเข้าใจในกลไลนี้ และพวกเขาจะประสบความสำเร็จไปก่อน ยังไม่มีคำว่าสายถ้าเราอยากให้ตัวเองประสบความสำเร็จ มองปัญหาเป็นแรงผลักดัน เป็นโจทย์ข้อหนึ่ง ที่จะขัดเกลาและยกระดับตัวคุณให้อยู่ในอีกหนึ่งระดับที่ดีกว่าเดิมแน่นอน
Writer : Better Call Nika
Kommentare